TOP 50 นักฟุตบอลที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลก (อันดับที่ 41-50)
TOP 50 นักฟุตบอลที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลก (อันดับที่ 41-50)
อันดับที่ 50: ไมเคิล เลาดรู๊ป (Michael Laudrup)
จุดพีค: 1990-1995
ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์คอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ (1995) แชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 1 สมัย, แชมป์ลาลีกา 5 สมัย, แชมป์เซเรียอา 1 สมัย, ทีมยอดเยี่ยมฟุตบอลโลก (1998), ทำเนียบเกียรติยศทีมชาติเดนมาร์ก
หนึ่งในไอคอนิคของนักฟุตบอลทีมชาติเดนมาร์ก ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้อยู่ในชุดเทพนิยาย แชมป์ยูโร 92 เนื่องจากมีปัญหาส่วนตัวกับ ริชาร์ด โมลเลอร์ นีลเซน ผู้จัดการทีมในขณะนั้นก่อนร่วมทัวร์นาเมนต์ แต่ผลงานที่เขาฝากไว้ในการค้าแข้งในประเทศสเปน ก็ทำเอาหลายคนได้ประจักษ์ เมื่อสามารถพา บาร์เซโลน่า เป็นแชมป์ลาลีกา ได้ 4 ฤดูกาลติด และในฤดูกาลสุดท้าย ยังฝากรอยแผลในศึก เอล กลาสิโก้ ด้วยการพาทีมถล่ม เรอัล มาดริด ยับเยิน 5-0
ก่อนที่ในปีที่ 5 เขาจะข้ามฟากมาเล่นให้กับ ‘ราชันชุดขาว’ แล้วพาต้นสังกัดถลุง บาร์เซโลน่า กลับ 5-0 พร้อมปาดคว้าแชมป์ลีกมาครอง แค่นี้ก็เห็นได้ชัดว่าเขาคือ เพลย์เมกเกอร์ตัวแบก ผู้ตัดสินศึกหยุดโลกอย่างแท้จริง
อันดับที่ 49: โซคราเตส (Sócrates)
จุดพีค: 1979-1984
ความสำเร็จโดดเด่น: ผู้เล่นยอดเยี่ยมทวีปอเมริกาใต้ (1983), รองแชมป์โคปา อเมริกา (1983), ทำเนียบเกียรติยศทีมชาติบราซิล
หลายคนรู้จักเขาคนนี้เป็นอย่างดี จากการที่มีใบปริญญาทางการแพทย์ แต่หลงรักในการเล่นฟุตบอล รวมไปถึงการหลงไหลในศิลปะ เห็นได้ชัดจากสไตล์การแต่งตัวของเขา รวมไปถึงลีลาบนผืนหญ้า ที่เปรียบเหมือนศิลปินผู้กำลังวาดภาพด้วยสีน้ำมันบนผ้าแคนวาส
น่าเสียดายที่ในช่วงเจ้าตัวท็อปฟอร์มนั้น ไม่ใช่ยุคเรืองรองของวงการลูกหนัง ‘แซมบ้า’ เนื่องจากถึงแม้จะมีสตาร์อยู่หลายคน แต่ก็ไปไม่ถึงฝั่งฝัน กระนั้นสิ่งที่เจ้าตัวทำในสนาม รวมไปถึงลูกยิงใส่ ทีมชาติอิตาลี ในศึกฟุตบอลโลก ปี 1982 ที่ประสานงานกับเทคนิคการพลิกบอลของ ซิโก้ ก็ทำให้ชื่อของ ‘คุณหมอโซคราเตส’ อยู่ในใจของใครหลาย ๆ คน
อันดับที่ 48: แจร์ซินโญ่ (Jairzinho)
จุดพีค: 1970
ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์โลก (1970), ทำเนียบเกียรติยศทีมชาติบราซิล
แน่นอนว่าตำนานลูกหนังหมายเลขหนึ่งของทีมชาติบราซิล ทุกคนคงจะต้องนึกถึง เปเล่ แต่ในฟุตบอลโลก 1970 เขาคนนี้คือชายผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จ โดยทำประตูได้ทุกนัดในทัวร์นาเมนต์ที่ทั้งโลกจับตามอง ซึ่งปีกขวาจอมพเนจรรายนี้ ถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในนักฟุตบอลที่มีทักษะการเลี้ยงบอลดีที่สุดคนหนึ่งที่โลกเคยเห็น และด้วยมัดกล้ามเนื้อขนาดใหญ่ของเขา ไม่มีหรอกที่จะเสียท่าในการถูกเข้าปะทะได้ง่าย ๆ
นอกจากนั้นเขายังมีอีกหนึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่หลังจากแขวนสตั๊ด คือ เป็นผู้ค้นพบพรสวรรค์ในการเล่นฟุตซอลของ โรนัลโด้ หลุยซ์ นาซาริโอ้ เดอ ลิม่า หรือ ‘โล้นทองคำ’ ที่หลายคนรู้จักตอนอายุ 14 ปี ก่อนจะขัดเกลาให้ ‘R9’ กลายเป็นกองหน้าที่เก่งที่สุดของโลกในเวลาต่อมา
อันดับที่ 47: เซอร์ สแตนลีย์ แมทธิวส์ (Sir Stanley Matthews)
จุดพีค: 1953-56
ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1956), แชมป์บริติช โฮม แชมเปี้ยนชิพ 9 สมัย, แชมป์เอฟเอ คัพ 1 สมัย, ทำเนียบเกียรติยศทีมชาติอังกฤษ
หากไร้ซึ่งสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาอาจกลายเป็นหนึ่งในนักเตะที่ได้รับการจดจำมากกว่านี้ แสตนลี่ย์ แมทธิวส์ ได้รับการแต่งตั้งยศอัศวินในวัย 50 ปี ขณะที่ยังโลดแล่นให้กับ สโต๊ค ซิตี้ บนลีกสูงสุดของประเทศอังกฤษ และเป็นนักเตะอายุมากที่สุดที่ลงสนามให้กับทีมชาติอังกฤษ (42) ก่อนหน้านั้นอีกด้วย
และถึงแม้ว่าจะกลับมาค้าแข้งในวัยที่มีเลข 3 นำหน้า เขาก็ยังเดินหน้าเพื่อหวังจะคว้าแชมป์สักรายการในอาชีพให้สำเร็จ ก่อนที่จะทำได้กับ แบล็คพูล ในปี 1953 ก่อนจะกลายเป็นนักฟุตบอลคนแรกของโลกที่คว้ารางวัล บัลลงดอร์ ในปี 1956 เฉือนเอา อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน่ และ เรมอนด์ โคปา สองผู้ยิ่งใหญ่แห่ง ‘ราชันชุดขาว’ ไปแบบหวุดหวิด
อันดับที่ 46: คีเลียน เอ็มบัปเป้ (Kylian Mbappe)
จุดพีค: 2018-2022
ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์โลก (2018), แชมป์ลีกเอิง 7 สมัย, ดาวซัลโวฟุตบอลโลก (2022), ดาวซัลโวลีกเอิง 6 สมัย, นักเตะยอดเยี่ยมลีกเอิง 5 สมัย
นักเตะที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา หลังจากแจ้งเกิดเต็มตัวตั้งแต่ยังอายุไม่ถึง 20 ปี ในการเป็นตัวหลักของทีมชาติฝรั่งเศส ชุดแชมป์ฟุตบอลโลก 2018 ก่อนจะเป็นตัวแบกในชุดรองแชมป์ฟุตบอลโลก ปี 2022 ซัดแฮตทริคใส่ทีมชาติอาร์เจนติน่า ในนัดชิงชนะเลิศ จนเกือบทำให้ ลิโอเนล เมสซี่ ไปไม่ถึงฝั่งฝัน
ความรวดเร็วและการจบสกอร์ที่เฉียบขาด ทำให้เขาถูกยกไปเทียบกับเหล่าตำนานเพชฌฆาตมากมาย อาทิ เธียร์รี่ อองรี หรือ โรนัลโด้ บราซิล และสิ่งที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ได้ดีที่สุดจะเริ่มต้นขึ้นหลังจากนี้ เมื่อเขาตัดสินใจอำลา ปารีส แซงต์-แชร์กแมง มาร่วมทีม เรอัล มาดริด เพราะหากไม่มีอะไรผิดพลาด รางวัล บัลลงดอร์ ก็คงหนีไม่พ้นมือ ‘ไอ้เด็กนินจาเต่า’ เป็นแน่
อันดับที่ 45: ปาโก เกนโต้ (Paco Gento)
จุดพีค: 1960-1966
ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 6 สมัย, แชมป์ลาลีกา 12 สมัย
ท่ามกลางความโดดเด่นในยุค 60 ของทัพ ‘ราชันชุดขาว’ นำโดย อัลเฟรโด้ ดิ สเตฟาโน่ และ เฟเรนซ์ ปุสกัส แต่ว่าฝีเท้าของ เกนโต้ ก็โดดเด่นจนขึ้นมายืนเคียงข้างได้อย่างน่าภาคภูมิใจ และยังเป็นนักเตะเพียงรายเดียวในศตวรรษที่ 20 ที่สามารถคว้าแชมป์ยุโรปรายการใหญ่ ได้ถึง 6 สมัย กว่าจะมีคนทำสถิติทาบได้ก็ปาไป ปี 2024 ที่ผ่านมานี่เอง
นอกจากความรวดเร็วในกราบซ้าย เขายังมีอาวุธลับที่ช่วยให้ เรอัล มาดริด ผลิตประตูได้เป็นกอบเป็นกำคือ การครอสบอลเข้าไปในกรอบเขตโทษ รวมถึงสวมปลอกแขนกัปตันทีม พาสโมสรเอาชนะ ปาร์ติซาน เบลเกรด ในนัดชิงชนะเลิศ ยูโรเปี้ยน คัพ ส่งท้ายตัวเองในปี 1966
อันดับที่ 44: เกตาโน่ ชีเรอา (Gaetano Scirea)
จุดพีค: 1980-1985
ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์โลก (1982), แชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก 1 สมัย, แชมป์เซเรียอา 7 สมัย
หากจะพูดถึงทีมชาติอิตาลี แน่นอนว่าทุกคนจะต้องคิดถึงเรื่องของเกมรับ ซึ่งทางด้านของ เกตาโน่ ชีแร นั้นเปรียบเสมือนต้นฉบับออริจินัล ก่อนที่ทัพ ‘อัซซูรี่’ จะสานต่อมายังรุ่นสู่รุ่น ไล่ตั้งแต่ตัวเขาเองที่เบียด ฟรังโก บาเรซี่ ในวัย 22 ปี ไปเป็นตัวสำรองในศึกฟุตบอลโลก 1982 และเซ็นเตอร์ฮาล์ฟของ อิตาลี ต้องเผชิญหน้ากับเหล่าปรมาจารย์ลูกหนังมากมาย อาทิ ดิเอโก มาราโดน่า, มิเชล พลาตินี่, คาร์ล-ไฮนซ์ รุมมิกเนกเก้, ซิโก้, ซบิกนิว โบเนียค ฯลฯ
จุดเด่นที่สุดของเขาอีกอย่างหนึ่ง คือการเล่นแบบกองหลังสมัยใหม่ ในช่วงยุค 70-80 ซึ่งไม่ใช่แค่ดุดันเข้าว่าตามแบบฉบับโบราณ แต่มีการเติมขึ้นมาเล่นเกมรุก และมีส่วนช่วยให้ทีมได้ประตูอยู่บ่อยครั้ง ผลพวงก็มาจากการที่เคยเล่นตำแหน่งมิดฟิลด์มาก่อนนั่นเอง
อันดับที่ 43: เซปป์ ไมเออร์ (Sepp Maier)
จุดพีค: 1969-1974
ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์โลก (1974), แชมป์ยูโร (1972), แชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 3 สมัย, แชมป์บุนเดสลีกา 4 สมัย
ตลอดการเฝ้าเสาของเขานั้น เล่นให้กับแค่สโมสรเดียวในอาชีพคือ บาเยิร์น มิวนิค โดยลงเล่นทุกรายการไป 709 แมตช์ เป็นสถิติการลงสนามให้ ‘เสือใต้’ มากที่สุดจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลังจากที่เขาแขวนถุงมือไป เขาก็ได้พร่ำสอนเด็กหนุ่มมากหน้าหลายตา และหนึ่งในลูกศิษย์ของเขามีนามว่า โอลิเวอร์ คาห์น
เมื่อมองความสำเร็จของนายทวารทีมชาติเยอรมันรายนี้ ก็พอจะรู้แล้วว่าต้องเป็นหนึ่งในใต้หล้า ด้านการป้องกันประตู แต่แค่จะเซฟอย่างเดียวมันคงไม่ทำให้เขามาอยู่ตรงนี้ นั่นก็เพราะว่านี่คือต้นแบบของการเล่นแบบ Sweeper Keeper ซึ่งถ้าใครเกิดไม่ทัน ก็ดูสไตล์ของ มานูเอล นอยเออร์ ได้เลย นี่แหละต้นตำรับของชายที่ใช้ความเร็ว และการตอบสนองที่ไวเหมือน “แมวเหมียว”
*เกร็ดน่ารู้ เซปป์ ไมเออร์ ได้รับฉายาว่า “แมวเหมียวแห่งอันซิง” อันเนื่องมาจากความรวดเร็วของเขา และยังเป็นนักเตะที่มีความเป็นผู้นำสูง ซึ่งเขามีความเชื่อส่วนตัวว่า “ผู้รักษาประตูที่ดีต้องดับความร้อนรุ่ม ความวิตกกังวลของเพื่อนร่วมทีมให้ได้”
อันดับที่ 42: ลูอิซ ซัวเรซ มิรามอนเตส (Luis Suárez Miramontes)
จุดพีค: 1958-1965
ความสำเร็จโดดเด่น: บัลลงดอร์ (1960), แชมป์ยูโร (1964), แชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 2 สมัย, แชมป์ลาลีกา 2 สมัย, แชมป์เซเรียอา 3 สมัย
ชื่อของเขาอาจทำเอาหลายคนเข้าใจผิดว่าต้องเป็น อดีตแข้งบาร์เซโลน่า ที่ปัจจุบันเล่นอยู่กับ อินเตอร์ ไมอามี่ ซึ่งหากคุณคิดว่า ซัวเรส คนปัจจุบันนั้นสุดยอดแล้ว คุณค้องได้รู้จัก ซัวเรซ รุ่นคลาสสิค นั้นยิ่งใหญ่ไม่แพ้กัน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ
เขาประสบความสำเร็จอย่างมาก ทั้งตอนที่เล่นให้กับทั้ง บาร์เซโลน่า และ อินเตอร์ มิลาน ซึ่งเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อจริง ๆ ว่านี่คือนักเตะจากแดน ‘กระทิงดุ’ เพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์ ที่เคยคว้าบัลลงดอร์ หากคุณสังเกตขวบปีนั้นดี ๆ มันคือยุคสมัยเดียวกับความรุ่งเรืองของ เรอัล มาดริด ที่นำทัพโดย 3 เทพเจ้าฟุตบอล อันเฟรโด ดิ สเตฟาโน่, เฟเรนซ์ ปุสกัส และ ปาโก เกนโต้
แต่นั่นคือจุดจบของเขากับ ‘อัลซูลกราน่า’ เช่นกัน โดยเป็น อินเตอร์ มิลาน อาศัยจังหวะที่เขาได้รับเสียงโห่ในทุกเกมจากแฟนบอลทีมตนเอง เพราะการทะเลาะกับเพื่อนร่วมทีมอย่าง ลาสซ์โล คูบาล่า ฉกคว้าตัวไปในราคาสถิติโลก ณ วันนั้น 152,000 ปอนด์ และตลอด 10 ปี เขาถูกเสนอเข้าชิงบัลลงดอร์ต่ออีกถึง 3 ครั้ง แม้จะไม่ได้รางวัลนี้เป็นครั้งที่ 2 ก็ตาม
อันดับที่ 41: พอล ไบรท์เนอร์ (Paul Breitner)
จุดพีค: 1972-1981
ความสำเร็จโดดเด่น: แชมป์โลก (1974), แชมป์ยูโร (1972), แชมป์ยูโรเปี้ยน คัพ 1 สมัย, แชมป์บุนเดสลีกา 5 สมัย, แชมป์ลาลีกา 2 สมัย, บัลลงดอร์ ดรีมทีม (Bronze)
มีไม่กี่คนบนโลกใบนี้ที่สามารถทำประตูในรอบชิงชนะเลิศได้ถึง 2 ครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเขาคนนั้นลงเล่นในตำแหน่งแบ็คซ้าย โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1974 ที่ช่วยให้ทีมชาติเยอรมันตะวันตก ตีเสมอก่อนจะพลิกชนะได้สำเร็จ แต่น่าเสียดายที่ครั้งที่ 2 เป็นเพียงแค่การตีไข่แตกเท่านั้น
โดยนอกจาก ไบรท์เนอร์ จะเล่นด้านข้างได้อย่างยอดเยี่ยมแล้ว ยังสามารถหุบเข้ามาเล่นเป็นมิดฟิลด์ตัวกลางได้อีกด้วย ซึ่งเทียบแล้วก็เปรียบเหมือนผู้เริ่มต้นการเล่นแบบ Inverted-Fullback ที่นิยมใช้กันอยู่ในปัจจุบัน
เควิน คีแกน? โยฮัน ครัฟฟ์? คุณอยากให้ประกบใครล่ะ? ชายคนนี้ทำใส่มาทุกคนแล้ว..!!
เขียนโดย The Lite Team
LS Sport ข่าวกีฬาคนรุ่นใหม่ 24 ชั่วโมง